วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2552

โครงการชุมชนต้นแบบการผลิตมังคุดคุณภาพจังหวัดจันทบุรี

โครงการชุมชนต้นแบบการผลิตมังคุดคุณภาพจังหวัดจันทบุรี
หลักการและเหตุผล
จังหวัดจันทบุรีได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดที่มีการผลิตมังคุดออกสู่ตลาดมากที่สุดของประเทศ เนื่องจากเกษตรกรชาวสวนมังคุดของจังหวัดจันทบุรี มีการปรับตัวและพัฒนากระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี มีการนำมาใช้ในกระบวนการผลิตมาก ซึ่งมีส่วนสำคัญทำให้ผลผลิตของมังคุดสูงมากตามไปด้วย ผลผลิตมังคุดที่ผลิตได้มากดังกล่าวไม่แน่นอนเสมอไปว่าจะทำให้เกษตรกรชาวสวนได้ผลตอบแทนมากคุ้มค่าตามไปด้วย ต้นทุนการผลิตและคุณภาพของผลิตผลมังคุดยังเป็นตัวแปรที่สำคัญที่จะตัดสินว่าเกษตรกรชาวสวนมังคุดผลิตมังคุดได้มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงหรือไม่ หากต้นทุนการผลิตสูง ผลผลิตไม่ได้คุณภาพ กล่าวคือ ขนาดผลเล็กกว่า 80 กรัม และหรือผลมังคุดมีผลลาย มีการเกิดเนื้อแก้วหรือยางไหล ก็จะมีผลทำให้ราคาขายมังคุดต่ำ ผลตอบแทนที่เกษตรกรจะได้รับก็ต่ำตามไปด้วย และหากในช่วงเวลาดังกล่าว ผลผลิตมังคุดออกสู่ตลาดในปริมาณมากด้วยแล้ว เกษตรกรชาวสวนมังคุดอาจจะขาดทุน หรือเก็บผลมังคุดจำหน่ายไม่คุ้มค่ากับต้นทุนที่ใช้ในการผลิตก็เป็นได้ ซึ่งโอกาสที่จะเกิดสถานการณ์ที่กล่าวมา มีพบให้เห็นได้อยู่แล้วในทุกฤดูกาลผลิต โครงการชุนชนต้นแบบการผลิตมังคุดคุณภาพจังหวัดจันทบุรี จึงมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่จะพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรผู้ปลูกมังคุดของจังหวัดจันทบุรี มีแนวคิดที่จะผลิตมังคุดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีคุณภาพ โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะกับสภาพพื้นที่ สภาพตลาดและสภาพครัวเรือน เพื่อให้กระบวนการผลิตมังคุดของเกษตรกรมีภูมิคุ้มกัน มีเสถียรภาพ สามารถรองรับกับสถานการณ์การผลิตที่เปลี่ยนแปลงไปได้ และเพื่อให้การดำเนินงานมีการขยายผลอย่างกว้างขวาง จึงเน้นเข้าไปปฏิบัติงานร่วมกับชุมชนหรือกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่การผลิตที่สำคัญ และเชื่อมโยงให้กลุ่มเกษตรกรเป้าหมายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน นำไปสู่การเกิดเครือข่ายการผลิตมังคุดที่มีคุณภาพ สามารถที่จะถ่ายทอดประสบการณ์และเป็นต้นแบบให้กับการผลิตพืชอื่น ๆ ได้นำไปต่อยอดและใช้ประโยชน์ได้

วัตถุประสงค์
เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรชาวสวนมังคุดของจังหวัดจันทบุรี สามารถผลิตมังคุดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีเสถียรภาพ สามารถเป็นต้นแบบในการถ่ายทอดเทคโนโลยี และขยายผลให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร หรือชุมชนที่สนใจนำรูปแบบไปปฏิบัติได้

เป้าหมาย
1. เกษตรกรชาวสวนที่ร่วมดำเนินงานสามารถเพิ่มรายได้จากที่เคยได้รับอยู่เดิมไม่ต่ำกว่า 5% มีความพึงพอใจในกระบวนการดำเนินงานโดยเฉพาะเทคโนโลยีการผลิตที่นำไปปรับใช้ไม่ต่ำกว่า 50% ของจำนวนผู้ที่ร่วมดำเนินงาน
2. ได้เครือข่ายผู้ผลิตมังคุดคุณภาพ สามารถเป็นต้นแบบในการถ่ายทอดและขยายผลการดำเนินงานไปสู่เกษตรกรและหรือกลุ่มเกษตรกรที่สนใจต่อไปได้

วิธีดำเนินงาน
1. สำรวจ/รวบรวมข้อมูลกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมังคุดในเขตพื้นที่จังหวัดจันทบุรี เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินงานไม่ต่ำกว่า 10 กลุ่ม
2. เก็บรวบรวมข้อมูลรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย เช่น จำนวนสมาชิก พื้นที่ปลูก ความเป็นมาการก่อตั้งกลุ่ม ฯลฯ เป็นต้น
3. เชิญกลุ่มเกษตรกรเป้าหมายมาร่วมประชุมชี้แจงวัตถุประสงค์ ความเป็นมา และเป้าหมายของโครงการฯ พร้อมทั้งให้กลุ่มเกษตรเป้าหมายได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการผลิตมังคุดซึ่งกันและกัน และร่วมกันวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนการผลิตมังคุดของกลุ่ม และกำหนดแนวทางการเพิ่มศักยภาพการผลิตมังคุด โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เป็นองค์ความรู้ทางวิชาการและประสบการณ์การผลิตของเกษตรกรเป็นเครื่องมือหลักในการนำไปสู่เป้าหมายของโครงการ
4. ประชุม/อบรม/ศึกษาดูงาน ตามแผนการดำเนินงานและแนวทางการดำเนินงานที่กำหนดร่วมกัน เช่น อบรมการเพิ่มมูลค่าผลผลิตโดยการแปรรูปมังคุด วิธีการเก็บตัวอย่างดินด้วยตนเอง การใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์เพื่อใช้ให้ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ โดยแปรผลจากผลวิเคราะห์ดินที่ได้ การจัดการเตรียมความพร้อมต้นมังคุดหลังเก็บผลและการจัดการ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ฯลฯ
5. สร้างแปลงต้นแบบการผลิตมังคุดคุณภาพ ตามกระบวนการที่กำหนด โดยให้เกษตรกรที่มีความสนใจใฝ่รู้เป็นผู้ดำเนินงาน อย่างน้อย 5 แปลง เพื่อใช้เป็นที่ศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนประสบการณ์
6. ประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการดำเนินงานในส่วนของกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่ม ภายหลังจากมีการทำแปลงต้นแบบ หรือหลังการอบรม/ประชุม ที่มีกิจกรรมหรือข้อสรุปร่วมกันและจำเป็นต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อย 2 ครั้ง
7. สรุปและประเมินผลการดำเนินงาน พร้อมทั้งจัดทำเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

เวลาและสถานที่
ดำเนินงานระหว่างเดือนเมษายน 2552 - ตุลาคม 2552 ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดที่เป็นเป้าหมายให้เกษตรกรดูงานแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เช่น ระยอง เป็นต้น

ผู้รับผิดชอบ
นายสมบัติ ตงเต๊า ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี
นายพิศาล หรินทรานนท์ นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ
นายธีรวุฒิ ชุตินันทกุล นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ
คณะทำงานถ่ายทอดเทคโนโลยี ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น